อักษรวิ่ง

เทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวัน

วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2562

ประเพณีภาคใต้ และวัฒนธรรมประเพณีภาคใต้


วิดีโอวัฒนธรรมประเพณีภาคใต้


          ภาคใต้ เป็นดินแดนแห่งหมู่เกาะและท้องทะเลอันงดงาม อีกทั้งยังมีอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติมากมาย นอกจากนี้ ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวใต้ยังโดดเด่นมีเอกลักษณ์และเปี่ยมเสน่ห์ชวนให้เข้าไปสัมผัสและเรียนรู้อย่างใกล้ชิด จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในแต่ละปีภาคใต้จัดเป็นอีกภาคที่มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาเที่ยวชมมากมาย

เพลงพื้นบ้านประจำภาคใต้
          ดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ มีลักษณะเรียบง่าย มีการประดิษฐ์เครื่องดนตรีจากวัสดุใกล้ตัวซึ่งสันนิษฐานว่าดนตรีพื้นบ้านดั้งเดิมของภาคใต้น่าจะมาจากพวกเงาะซาไก ที่ใช้ไม่ไผ่ลำขนาดต่าง ๆ กัน ตัดออกมาเป็นท่อนสั้นบ้างยาวบ้าง แลัวตัดปากของกระบอกไม้ไผ่ให้ตรงหรือเฉียงพร้อมกับหุ้มด้วยใบไม้หรือกาบของต้นพืช ใช้ตีประกอบการขับร้องและเต้นรำ
จากนั้นก็ได้มีการพัฒนาเป็นเครื่องดนตรีแตร กรับ กลองชนิดต่าง ๆ เช่น รำมะนา ที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวมลายู กลองชาตรีหรือกลองตุ๊กที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงมโนราห์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ตลอดจนเครื่องเป่า เช่น ปี่นอกและเครื่องสี เช่น ซอด้วง ซออู้ รวมทั้งความเจริญทางศิลปะ การแสดง และดนตรีของเมืองนครศรีธรรมราช จนได้ชื่อว่าละคอน
          นอกจากนี้ ยังมีการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ประกอบการละเล่นแสดงต่าง ๆ เช่น ดนตรีโนรา ดนตรีหนังตะลุง ที่มีเครื่องดนตรีหลักคือ กลอง โหม่ง ฉิ่ง และเครื่องดนตรีประกอบผสมอื่น ๆ ดนตรีลิเกป่าที่ใช้เครื่องดนตรีรำมะนา โหม่ง ฉิ่ง กรับ ปี่ และดนตรีรองเง็ง ที่ได้รับแบบอย่างมาจากการเต้นรำของชาวสเปนหรือโปรตุเกสมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีการบรรเลงดนตรีที่ประกอบด้วย ไวโอลิน รำมะนา ฆ้อง หรือบางคณะก็เพิ่มกีตาร์เข้าไปด้วย ซึ่งดนตรีรองเง็งนี้เป็นที่นิยมในหมู่ชาวไทยมุสลิมตามจังหวัดชายแดนไทย-มาเลเซีย
          ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าลักษณะเด่นของดนตรีพื้นบ้านภาคใต้จะได้รับอิทธิพลมาจากดินแดนใกล้เคียงหลายเชื้อชาติ จนเกิดการผสมผสานเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเน้นจังหวะและลีลาที่เร่งเร้า หนักแน่น และคึกคัก เป็นต้น เพลงพื้นบ้านเกิดจากชาวบ้านเป็นผู้สร้างบทเพลงและสืบทอดกันมาแบบปากต่อปากโดยการจดจำบทเพลงเป็นคำร้องง่าย ๆ ที่เป็นเรื่องราวใกล้ตัวในท้องถิ่นนั้น ๆ จึงทำให้เพลงพื้นบ้านของไทยในภาคต่าง ๆ มีความแตกต่างกันออกไป


เพลงพื้นเมืองภาคใต้
          เพลงพื้นบ้านภาคใต้ มีอยู่ประมาณ 8 ชนิด มีทั้งการร้องเดี่ยวและการร้องเป็นหมู่คณะ โดยสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
          1. เพลงที่ร้องเฉพาะโอกาสหรือในฤดูกาล ได้แก่เพลงเรือ เพลงบอก เพลงนาคำตัก เพลงกล่อมนาคหรือเพลงแห่นาคเป็นต้น
          2. เพลงที่ร้องไม่จำกัดโอกาส ได้แก่ เพลงตันหยง ซึ่งนิยมร้องในงานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นปีใหม่ และงานมงคลต่าง ๆ เพลงเด็กที่ร้องกล่อมเด็กให้หลับ และเพลงฮูลู หรือลิเกฮูลู ที่เป็นการร้องคล้าย ๆ ลำตัด โดยมีรำมะนา เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะกับบทขับร้องภาษาท้องถิ่นคือภาษามลายูเป็นกลอน โต้ตอบ


เครื่องดนตรีพื้นบ้านภาคใต้
          1. ทับ เป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญ ในการให้จังหวะ และควบคุมการเปลี่ยนแปลงจังหวะ
          2. กลองโนรา ใช้ประกอบการแสดงโนรา หรือหนังตะลุง โดยทั่วไปมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของหน้า
          3. โหม่ง เป็นเครื่องดนตรี ที่มีส่วนสำคัญในการขับบท ทั้งในด้านการให้เสียง
          4. ปี่ เครื่องดนตรีชนิดนี้มีความสำคัญในการเสริมเสียงสะกดใจผู้ชม
          5. แตระพวงหรือกรับพวง เป็นเครื่องประกอบจังหวะทำจากไม้เนื้อแข็ง
          6. กลองหนัง รูปร่างลักษณะเป็นเครื่องดนตรีประเภทตี เป็นกลองสองหน้าตัวกลองทำจากไม้เนื้อแข็ง ข้างในกลวงขึ้นหน้าด้วยหนังวัว หรือ หนังแพะทั้งสองด้าน ตีด้วยไม้ 1 คู่ เวลาตีต้องตั้งกลองไว้ที่พื้น หรือขาตั้ง เพื่อให้ตีได้สะดวก ประวัติมีมาแต่โบราณ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ นิยมใช้ในการละเล่นของภาคใต้ทั่วไป จังหวัดที่นิยมบรรเลง ทุกจังหวัดทางภาคใต้ โอกาสที่บรรเลง งานมงคลและงานอวมงคลทั่วไป
          7. โพน เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีเป็นกลองสองหน้า ตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ตรงกลางตัวกลองด้านบนมีหูโลหะตรึงไว้สำหรับแขวนและตีด้วยไม้ขึงด้วยหนังวัว 2 ด้าน ไม่ทราบประวัติที่แน่นอน นิยมตีแข่งขันเสียงดังแต่บางครั้งจะใช้ตีประกอบกับฆ้องเดี่ยวไม่ใช้ประสมวงดนตรีจังหวัดที่นิยมบรรเลงทุกจังหวัดในภาคใต้ โอกาสที่บรรเลงตีเป็นสัญญาณเวลาพระฉันเพลหรือลงโบสถ์ และใช้ตีในขบวนการแห่พระตลอดจนใช้ตีแข่งขันความดังกัน เรียกว่า "จันโพน"
          8. กลองแขก เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีเป็นกลองสองหน้ามีลักษณะคล้ายปืด แต่เล็กกว่า ตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็งหน้ากลองทำด้วยหนังนากหรือหนังเสือปลา วิธีตีกลองจะตีด้วยไม้มีลักษณะรูปโค้ง และใช้มือตีอีกด้านของหนัง
          9. ฆ้องคู่ จัดเป็นเครื่องดนตรีประเภทตีฆ้องแฝด ตัวฆ้องทำด้วยโลหะผสมตีด้วยไม้หุ้มนวมแขวนอยู่ในกลอง ไม้สี่เหลี่ยมเจาะรูให้เสียงออกประวัติ มีเล่นกันมาช้านานแล้วใช้บรรเลงในวงดนตรีประกอบด้วย ทับ กลองหนัง ฉิ่ง และปี่



การแสดงพื้นเมืองภาคใต้
          ศิลปะการรำและการละเล่นของชาวพื้นบ้านภาคใต้อาจแบ่งตามกลุ่มวัฒนธรรมได้ 2 กลุ่มคือ
          - วัฒนธรรมไทยพุทธ ได้แก่ การแสดงโนรา หนังตะลุง เพลงบอก เพลงนา
          - วัฒนธรรมไทยมุสลิม ได้แก่ รองเง็ง ซำแปง มะโย่ง (การแสดงละคร) ลิเกฮูลู (คล้ายลิเกภาคกลาง) และซิละ
         1. โนรา เป็นนาฏศิลป์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาศิลปะการแสดงของภาคใต้ มีความยั่งยืนมานับเป็นเวลาหลายร้อยปี การแสดงโนราเน้นท่ารำเป็นสำคัญ ต่อมาได้นำเรื่องราวจากวรรณคดีหรือนิทานท้องถิ่นมาใช้ในการแสดงเรื่อง พระสุธนมโนห์รา เป็นเรื่องที่มีอิทธิพลต่อการแสดงมากที่สุดจนเป็นเหตุให้เรียกการแสดงนี้ว่า มโนห์รา
ตามตำนานของชาวใต้เกี่ยวกับกำเนิดของโนรา มีความเป็นมาหลายตำนานในแต่ละจังหวัด ทั้งชื่อที่ปรากฏในเรื่องและเนื้อเรื่องบางตอน ทั้งนี้อาจสืบเนื่องมาจากความคิด ความเชื่อ ตลอดจนวิธีสืบทอดที่ต่างกัน จึงทำให้รายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละตำนานแตกต่างกัน
           จากการศึกษาท่ารำอย่างละเอียดจะเห็นว่าท่ารำที่สืบทอดกันมานั้น ได้มาจากความประทับใจที่มีต่อธรรมชาติ อาทิ ท่าลีลาของสัตว์บางชนิด เช่น ท่ามัจฉา ท่ากวางเดินดง ท่านกแขกเต้าเข้ารัง ท่าหงส์บิน ท่ายูงฟ้อนหาง ฯลฯ ท่าเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ท่าพระจันทร์ทรงกลด ท่ากระต่ายชมจันทร์
           ต่อมาเมื่อได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามาก็มีท่าพระลักษณ์แผลงศร พระรามน้าวศิลป์ และท่าพระพุทธเจ้าห้ามมาร ท่ารำและศิลปะการรำต่าง ๆ ของโนรา ท่านผู้รู้หลายท่านเชื่อว่าเป็นต้นแบบของละครชาตรีและการรำแม่บทของรำไทยด้วย
           ท่ารำโนรามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้ที่ฝึกหัดนาฏศิลป์ของภาคกลางแล้วจะรำท่าของโนราไม่สวย เพราะการทรงตัว การ ทอดแขน ตั้งวงหรือลีลาต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ผู้ที่จะรำโนราได้สวยงามจะต้องมีพื้นฐานการทรงตัว ดังนี้
           - ช่วงลำตัว จะต้องแอ่นอกอยู่เสมอ หลังจะต้องแอ่นและลำตัวยื่นไปข้างหน้า ไม่ว่าจะรำท่าไหน หลังจะต้องมีพื้นฐานการวางตัวเช่นนี้เสมอ
           - ช่วงวงหน้า วงหน้า หมายถึง ส่วนลำคอกระทั่งศีรษะ จะต้องเชิดหน้าหรือแหงนขึ้นเล็กน้อยในขณะรำ
           - ช่วงหลัง ส่วนก้นจะต้องงอนเล็กน้อย
             การย่อตัวเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การรำโนรานั้นลำตัวหรือทุกส่วนจะต้องย่อลงเล็กน้อย นอกจากย่อลำตัวแล้ว เข่าจะต้องย่อลงด้วย



          วิธีการแสดง 
          การแสดงโนราเริ่มต้นจากการลงโรง (โหมโรง) กาดโรงหรือกาดครู (เชิญครู) "พิธีกาดครู" ในโนราถือว่าครูเป็นเรื่องสำคัญมาก ฉะนั้นก่อนที่จะรำจะต้องไหว้ครู เชิญครูมาคุ้มกันรักษา หลายตอนมีการรำพัน สรรเสริญครู  สรรเสริญคุณมารดา เป็นต้น
          การแต่งกาย
          การแต่งกายของโนรา ยกเว้นตัวพรานกับตัวตลก จะแต่งเหมือนกันหมด ตามขนบธรรมเนียม เดิมการแต่งกายก็ถือเป็นพิธีทางไสยศาสตร์ ในพิธีผูกผ้าใหญ่ (คือพิธีไหว้ครู) จะต้องนำเทริดและเครื่องแต่งกายชิ้นอื่น ๆ ตั้งบูชาไว้บนหิ้ง หรือ "พาไล" และเมื่อจะสวมใส่เครื่องแต่งกายแต่ละชิ้นจะมีคาถากำกับ โดยเฉพาะการสวม "เทริด" ซึ่งมักจะต้องใช้ผ้ายันต์สีขาวโพกศีรษะเสียก่อนจึงจะสวมเทริดทับ
          เทริด คือ เครื่องสวมหัวโนรา เดิมนั้นเทริดเป็นเครื่องทรงกษัตริย์ทางอาณาจักรแถบใต้ อาจเป็นสมัยศรีวิชัยหรือศรีธรรมราช เมื่อโนราได้เครื่องประทานจากพระยาสายฟ้าฟาดแล้วก็เป็นเครื่องแต่งกายของโนราไป สมัยหลังเมื่อจะทำเทริดจึงมีพิธีทางไสยศาสตร์เข้าไปด้วย
          วงดนตรีประกอบ
           เครื่องดนตรีโนรามี 2 ประเภท คือ
           1. ประเภทเครื่องตี ได้แก่ กลองทับ โหม่ง (ฆ้องคู่) ฉิ่ง แกระหรือแตระ (ไม้ไผ่ 2 อัน ใช้ตีให้จังหวะ)
           2. ประเภทเครื่องเป่า ได้แก่ ปี่
         โอกาสที่แสดง
          การแสดงโนรามีแสดงทั่วไปในภาคใต้ แต่เดิมได้รับความนิยมมาก จึงแสดงเพื่อความบันเทิงไม่นิยมแสดงในงานศพและในงานมงคลสมรส ถ้าเป็นงานใหญ่ก็มักจะให้แข่งขัน หรือประชันกันซึ่งทำมากเมื่อ 40 ปีก่อน

         2. รองเง็ง การเต้นรองเง็งสมัยโบราณ เป็นที่นิยมกันในบ้านขุนนาง หรือเจ้าเมืองในสี่จังหวัดชายแดน เดิมการเต้นรองเง็งจะมีลีลาตามบทเพลงไม่น้อยกว่า 10 เพลง แต่ปัจจุบันนี้ที่นิยมเต้นมีเพียง 7 เพลงเท่านั้น
         วิธีการแสดง
         การเต้นรองเง็ง ส่วนใหญ่มีชายหญิงฝ่ายละ 5 คน โดยเข้าแถวแยกเป็นชายแถวหนึ่งหญิงแถวหนึ่งยืนห่างกันพอสมควร ความสวยงามของการเต้นรองเง็งอยู่ที่ลีลาการเคลื่อนไหวของเท้า มือ ลำตัว และลีลาการร่ายรำ ตลอดจนการแต่งกายของคู่ชายหญิง และความไพเราะของดนตรีประกอบกัน
         การแต่งกาย
         ผู้ชายแต่งกายแบบพื้นเมือง สวมหมวกไม่มีปีกหรือใช้หมวกแขกสีดำ นุ่งกางเกงขายาวกว้างคล้ายกางเกงจีน สวมเสื้อคอกลมแขนยาวผ่าครึ่งอกสีเดียวกับกางเกง ใช้โสร่งยาวเหนือเข่าสวมทับกางเกงเรียกว่า ซอแกะ
         เครื่องดนตรีและเพลงประกอบ ดนตรีที่ใช้ประกอบการเต้นรองเง็ง มี 3 อย่าง คือ
          1. รำมะนา
          2. ฆ้อง
          3. ไวโอลิน
         โอกาสที่แสดง

          เดิมรองเง็งแสดงในงานต้อนรับแขกเมืองหรืองานพิธีต่าง ๆ ต่อมานิยมแสดงในงานรื่นเริง เช่น งานประจำปี งานอารีรายอ ตลอดจนการแสดงโชว์ในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน

          3. ระบำตารีกีปัส ตารีกีปัสเป็นระบำที่ต้องอาศัยพัดเป็นองค์ประกอบสำคัญ เป็นการแสดงที่แพร่หลายในหมู่ชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี สำหรับลีลาของการแสดงอาจจะมีพลิกแพลงแตกต่างกันไป สำหรับการแสดงชุดนี้ ได้ปรับปรุงท่ารำ เพื่อให้เหมาะสมกับการแสดงที่เป็นหญิงล้วน
           ส่วนเครื่องดนตรีประกอบการแสดง ได้แก่ ไวโอลิน แมนตาลิน ขลุ่ย รำมะนา ฆ้อง มาลากัส บทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง เพลงตารีกีปัส เป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง บรรเลงดนตรีล้วน ๆ มีท่วงทำนองไพเราะอ่อนหวาน สนุกสนานเร้าใจ ความไพเราะของเพลงตารีกีปัส อยู่ที่การโซโลเสียงดนตรีทีละชิ้น


          4. ลิเกฮูลู หรือ ดีเกฮูลู เป็นการละเล่นขึ้นบทเป็นเพลงประกอบดนตรีและจังหวะตบมือ มีรากฐานเดิมมาจากคำว่า ลิเก คือการอ่านทำนองเสนาะ และคำว่า ฮูลู ซึ่งหมายถึง ทิศใต้ ซึ่งเมื่อรวมความแล้ว คือ การขับกลอนเป็นทำนองเสนาะจากทิศใต้ บทกลอนที่ใช้ขับเรียกว่า ปันตน หรือ ปาตง ในภาษามลายูถิ่นปัตตานี
          ผู้รู้บางท่านได้กล่าวไว้ว่า ลิเกฮูลู เกิดขึ้นเริ่มแรกที่อำเภอรามัน ซึ่งไม่ทราบแน่นอนว่าผู้ริเริ่มนี้คือใคร ชาวปัตตานีเรียกคนในอำเภอรามันว่า คนฮูลู แต่ชาวมาเลเซียเรียกศิลปะชนิดนี้ว่า ดีเกปารัต ซึ่ง ปารัต แปลว่า เหนือ จึงเป็นที่ยืนยันได้ว่า ลิเกฮูลู หรือ ดีเกปารัต นี้มาจากทางทิศเหนือของประเทศมาเลเซียและอยู่ทางตอนใต้ของปัตตานี
          ลักษณะการแสดง
          ลิเกฮูลูคณะหนึ่ง ๆ จะมีประมาณ 10 คน เป็นชายล้วน มีต้นเสียง 1-3 คน ที่เหลือจะเป็นลูกคู่ เวทีลิเกฮูลู จะยกพื้นสูง ประมาณ 1 เมตร เปิดโล่งไม่มีม่าน ไม่มีฉาก ลูกคู่ขึ้นไปนั่งล้อมวงร้องรับและตบมือโยกตัวให้เข้ากับจังหวะดนตรี ส่วนผู้ร้องหรือผู้โต้กลอนจะลุกขึ้นยื่นข้าง ๆ วงลูกคู่ ถ้ากรณีมีการประชันกัน แต่ละคณะจะขึ้นนั่งบนเวทีด้วยกัน แต่ล้อมวงแยกกันพอสมควร การแสดงที่ผลัดกันร้องทีละรอบทั้งรุกและรับเป็นที่ครึกครื้นสบ 
          ลิเกฮูลู เริ่มต้นด้วยการแสดงด้วยดนตรีที่ใช้โหมโรงเป็นการเรียกผู้ชม ต่อจากนั้นนักร้องออกมาร้องเพลงในจังหวะต่าง ๆ ทีละคน เนื้อร้องกล่าวถึงความประสงค์ในการเล่น แล้วจึงเริ่มแสดง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวของเหตุการณ์บ้านเมือง ปัญหาท้องถิ่นหรือเรื่องตลกโปกฮา ผู้แสดงจะต้องใช้คารมและปฏิภาณ ให้ทั้งความรู้และความบันเทิงแก่ผู้ชม
          การแต่งกาย
          ผู้เล่นลิเกฮูลูนิยมนุ่งกางเกงขายาว นุ่งผ้าซอแกะทับข้างนอกสั้นเหนือเข่า สวมเสื้อคอกลมมีผ้าโพกศีรษะ
         เครื่องดนตรีประกอบ
          เล่นลิเกฮูลู ประกอบด้วยรำมะนา อย่างน้อย ๒ ใบ ใช้ตีดำเนินจังหวะในการแสดง ฆ้องเป็นเครื่องกำกับจังหวะ ตีสม่ำเสมอประกอบการร้อง นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบและเป็นที่นิยมกันว่า ทำให้ครึกครื้น สนุกสนานไพเราะมากยิ่งขึ้น เช่น ขลุ่ย ลูกแซก แต่จังหวะที่ใช้เป็นประเพณีในการละเล่นคือ การตบมือ
          โอกาสที่แสดง
           ลิเกฮูลูนิยมแสดงในงานมาแกปูโละ พิธีเข้าสุนัต และงานฮารีรายอ

การแต่งกายประจำภาคใต้
          ประชาชนในภาคนี้มีการแต่งกายต่างกันตามเชื้อชาติ ทำให้การใช้วัสดุและรูปแบบมีเอกลักษณ์ไปตามเชื้อชาติ ถ้าเชื้อสายจีนจะแต่งแบบจีน ถ้าเป็นชาวมุสลิม ก็จะแต่งคล้ายกับชาวมาเลเซีย
          1. กลุ่มเชื้อสายจีน-มลายู เรียกชนกลุ่มนี้ว่ายะหยา หรือ ยอนย่า เป็นกลุ่มชาวจีน เชื้อสายฮกเกี้ยนที่มาสมรสกับชนพื้นเมืองเชื้อสายมลายู ชาวยะหยาจึงมีการแต่งกายอันสวยงามที่ผสมผสานรูปแบบของชาวจีนและมลายูเข้าด้วยกันอย่างงดงาม ฝ่ายหญิงใส่เสื้อฉลุลายดอกไม้ รอบคอ, เอว และปลายแขนอย่างงดงาม นิยมนุ่งผ้าซิ่นปาเต๊ะ ฝ่ายชายยังคงแต่งกาย คล้ายรูปแบบจีนดั้งเดิมอยู่

          2. กลุ่มชาวไทยมุสลิม ชนดั้งเดิมของดินแดนนี้นับถือศาสนาอิสลาม และมีเชื้อสายมลายู ยังคงแต่งกายตามประเพณี อันเก่าแก่ฝ่ายหญิงมีผ้าคลุมศีรษะ ใส่เสื้อผ้ามัสลิน หรือลูกไม้ตัวยาวแบบมลายูนุ่งซิ่นปาเต๊ะหรือซิ่นทอแบบมลายู ฝ่ายชายใส่เสื้อคอตั้ง สวมกางเกงขายาว และมีผ้าโสร่งผืนสั้น ที่เรียกว่า ผ้าซองเก็ต พันรอบเอวถ้าอยู่ บ้านหรือลำลองจะใส่โสร่ง ลายตารางทอด้วยฝ้าย และสวมหมวกถัก หรือเย็บด้วยผ้ากำมะหยี่
          3. กลุ่มชาวไทยพุทธ ชนพื้นบ้าน แต่งกายคล้ายชาวไทยภาคกลาง ฝ่ายหญิงนิยมนุ่งโจงกระเบน หรือผ้าซิ่นด้วย ผ้ายกอันสวยงาม ใส่เสื้อสีอ่อนคอกลม แขนสามส่วน ส่วนฝ่ายชายนุ่งกางเกงชาวเล หรือ โจงกระเบนเช่นกัน สวมเสื้อผ้าฝ้ายและมีผ้าขาวม้าผูกเอวหรือพาดบ่าเวลาออกนอกบ้านหรือไปงานพิธีกลับหน้า


อาหารพื้นบ้านภาคใต้
          อาหารพื้นบ้านภาคใต้มีรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ สืบเนื่องจากดินแดนภาคใต้เคยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายของพ่อค้าจากอินเดีย จีนและชวาในอดีต ทำให้วัฒนธรรมของชาวต่างชาติโดยเฉพาะอินเดียใต้ ซึ่งเป็นต้นตำรับในการใช้เครื่องเทศปรุงอาหารได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก
          อาหารพื้นบ้านภาคใต้ทั่วไป มีลักษณะผสมผสานระหว่างอาหารไทยพื้นบ้านกับอาหารอินเดียใต้ เช่น น้ำบูดู ซึ่งได้มาจากการหมักปลาทะเลสดผสมกับเม็ดเกลือ และมีความคล้ายคลึงกับอาหารมาเลเซีย อาหารของภาคใต้จึงมีรสเผ็ดมากกว่าภาคอื่น ๆ และด้วยสภาพภูมิศาสตร์อยู่ติดทะเลทั้งสองด้าน มีอาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ แต่สภาพอากาศร้อนชื้น ฝนตกตลอดปี อาหารประเภทแกงและเครื่องจิ้มจึงมีรสจัด ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ป้องกันการเจ็บป่วยได้อีกด้วย แกงที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ คือ แกงเหลือง แกงไตปลา เครื่องจิ้มก็คือ น้ำบูดู และชาวใต้ยังนิยมนำน้ำบูดูมาคลุกข้าวเรียกว่า "ข้าวยำ" มีรสเค็มนำและมีผักสดหลายชนิดประกอบ


          นอกจากนี้ ยังมีผักหลายชนิดที่คนภาคใต้นิยมรับประทานกันจนเป็นเอกลักษณ์ของอาหารภาคใต้ ได้แก่ ฝักสะตอ มีลักษณะเป็นฝักยาว สีเขียว เวลารับประทานต้องปอกเปลือกแล้วแกะเม็ดออก ใช้ทั้งเม็ด หรือนำมาหั่นปรุงอาหารโดยใช้ผัดกับเนื้อสัตว์หรือใส่ในแกง นอกจากนี้ยังใช้ต้มกะทิรวมกับผักอื่น ๆ หรือใช้เผาทั้งเปลือกให้สุกแล้วแกะเม็ดออกรับประทานกับน้ำพริก หรือจะใช้สด ๆ โดยไม่ต้องเผาก็ได้ ถ้าต้องการเก็บไว้นาน ๆ ควรดองเก็บไว้
          เม็ดเหรียง เป็นคำเรียกของคนภาคใต้ มีลักษณะคล้ายถั่วงอกหัวโต แต่หัวและหางใหญ่กว่ามาก สีเขียว เวลาจะรับประทานต้องแกะเปลือกซึ่งเป็นสีดำออกก่อน จะนำไปรับประทานสด ๆ หรือนำไปผัดกับเนื้อสัตว์ หรือนำไปดองรับประทานกับแกงต่าง ๆ หรือกับน้ำพริกกะปิ หรือจะนำมาหลนก็ได้
          ลูกเนียง มีลักษณะกลม เปลือกแข็งสีเขียวคล้ำเกือบดำ ต้องแกะเปลือกนอก แล้วรับประทานเนื้อใน ซึ่งมีเปลือกอ่อนหุ้มอยู่ เปลือกอ่อนนี้จะลอกออกหรือไม่ลอกก็ได้แล้วแต่ความชอบ ใช้รับประทานสด ๆ กับน้ำพริกกะปิ หลนแกงเผ็ด โดยเฉพาะแกงไตปลา ลูกเนียงที่แก่จัดใช้ทำเป็นของหวานได้ โดยนำไปต้มให้สุกแล้วใส่มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย และน้ำตาลทรายคลุกให้เข้ากัน





ประเพณีภาคอีสาน และวัฒนธรรมประเพณีภาคอีสาน


วิดีโอวัฒนธรรมประเพณีภาคอีสาน



          ภาคอีสาน หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่บนที่ราบสูงโคราช มีแม่น้ำโขงกั้นเขตทางตอนเหนือ และตะวันออกของภาค โดยทางด้านใต้จรดชายแดนกัมพูชา ทางตะวันตกมีเทือกเขาเพชรบูรณ์ และเทือกเขาดงพญาเย็นเป็นแนวกั้นแยกจากภาคเหนือ และภาคกลาง ซึ่งเทือกเขาที่สูงที่สุดในภาคอีสานคือ ยอดภูกระดึง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญของชาวอีสาน เช่น ลำตะคอง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูลอีสาน มีเนื้อที่ประมาณ 170,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเทียบได้กับหนี่งในสามของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทย



เพลงพื้นบ้าน
         สำหรับเพลงพื้นบ้านของภาคอีสานนั้น จะมีท่วงทำนองแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ โดยจะแบ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ ๆ ได้แก่ อีสานเหนือ และอีสานใต้ ซึ่งเพลงพื้นบ้านของภาคอีสาน มักสอดแทรกแง่คิด เกี่ยวกับวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ไว้อย่างชัดเจน และสามารถแบ่งประเภทของเพลงพื้นบ้าน ได้ดังนี้
         1. เพลงพิธีกรรม
         ตัวอย่างเพลงพิธีกรรมของกลุ่มอีสานเหนือ ได้แก่ การลำพระเวส หรือการเทศน์มหาชาติ การแหล่ต่าง ๆ การลำผีฟ้ารักษาคนป่วย การสวดสรภัญญะ และการบายศรีสู่ขวัญในโอกาสต่าง ๆ ฯลฯ
         ส่วนตัวอย่างเพลงพิธีกรรมของกลุ่มอีสานใต้ ได้แก่ เรือมมม็วต เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวสุรินทร์ ซึ่งมีความเชื่อมาแต่โบราณว่า "เรือมมม็วต" จะช่วยให้คนที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วยมีอาการทุเลาลงได้ ผู้เล่นไม่จำกัดจำนวน แต่จะต้องมีหัวหน้าหรือครูมม็วตอาวุโสทำหน้าที่เป็นผู้นำพิธีต่าง ๆ และเป็นผู้รำดาบไล่ฟันผีหรือเสนียดจัญไรทั้งปวง
         2. เพลงร้องเพื่อความสนุกสนาน
         กลุ่มอีสานเหนือ ได้แก่ หมอลำ ซึ่งแบ่งได้ 5 ชนิด คือ หมอลำพื้น หมอลำกลอน หมอลำหมู่ หมอลำเพลิน หมอลำผีฟ้า
         กลุ่มอีสานใต้ ได้แก่ กันตรึม เจรียง เพลงโคราช



          ทั้งนี้ ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของภาคอีสานมักนิยมประดิษฐ์การฟ้อนรำขึ้นมาใหม่ ทำให้มีผู้แบ่งศิลปะการฟ้อนทั้งชุดเก่า และชุดใหม่ที่ปรากฏอยู่ในภาคอีสานออกเป็น 8 กลุ่มใหญ่ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะออกมาในรูปของการแสดงพื้นเมือง ได้แก่
          1. การฟ้อนเลียนกิริยาอาการของสัตว์ เช่น กระโนบติงต๊อง แมงตับเต่า และกบกินเดือน ฯลฯ
          2. การฟ้อนชุดโบราณคดี เช่น ระบำบ้านเชียง รำศรีโคตรบูรณ์ ระบำพนมรุ้ง และระบำจัมปาศรี
          3. การฟ้อนประกอบทำนองลำนำ เช่น ฟ้อนคอนสวรรค์ รำตังหวาย เซิ้งสาละวัน และเซิ้งมหาชัย
          4. การฟ้อนชุดชุมนุมเผ่าภูไท 3 เผ่า คือ เผ่าไทภูพาน เผ่าไทยบุรีรัมย์ และเผ่าไทยโคราช
          5. การฟ้อนด้วยเรื่องราวจากวรรณกรรม เช่น มโนห์ราเล่นน้ำ
          6. การฟ้อนเซ่นสรวงบูชา เช่น ฟ้อนภูไท แสกเต้นสาก โส้ทั่งบั้ง เซิ้งผีหมอ ฟ้อนผีฟ้า ฟ้อนไทดำ เรือมปัลโจล ฟ้อนแถบลาน รำบายศรี เรือมมม็วต เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งนางด้ง รำดึงครกดึงสาก และเซิ้งเซียงข้อง ฯลฯ
          7. การฟ้อนศิลปาชีพ เช่น รำตำหูกผูกขิก ฟ้อนทอเสื่อบ้านแพง เรือมกลอเตียล (ระบำเสื่อ) เซิ้งสาวย้อตำสาด รำปั้นหม้อ รำเข็นฝาย เซิ้งสาวไหม รำแพรวา เซิ้งข้าวปุ้น รำบ้านประโคก เซิ้งปลาจ่อม เซิ้งแหย่ไข่มดแดง และเรือมศรีผไทสมันต์ ฯลฯ
          8. การฟ้อนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง เช่น เซิ้งแคน ฟ้อนชุดเล่นสาว เป่าแคน รำโปงลาง ฟ้อนกลองตุ้ม เซิ้งกะโป๋ เซิ้งทำนา เซิ้งสวิง เซิ้งกะหยัง รำโก๋ยมือ รำกลองยาวอีสาน ระบำโคราชประยุกต์ เรือมอันเดร เรือมซันตรูจน์ เรือมตลอก (ระบำกะลา) และเรือมจับกรับ ฯลฯ


เครื่อนดนตรีพื้นบ้าน
          เนื่องจากภาคอีสาน เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรม ทั้งเพลงพื้นบ้าน และการฟ้อนรำ ดังนั้นชาวอีสานจึงให้ความสำคัญกับเครื่องดนตรีที่ใช้ในการบรรเลงท่วงทำนองต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ดังนั้น เครื่องดนตรีของชาวอีสาน จึงมีครบทุกประเภท ทั้ง ดีด สี ตี เป่า อาทิ
          จะเข้กระบือ : เครื่องดนตรีสำคัญที่ใช้ในวงมโหรีเขมร เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดในแนวนอน มี 3 สาย
          กระจับปี่ : เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด โดยใช้กระที่ทำจากเขาสัตว์ กล่องเสียงทำ ด้วยไม้ขนุนหรือไม้สัก
          พิณ : เป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงด้วยการดีด มี 2-3 สาย แต่ขึ้นเป็นสองคู่ โดยขึ้นคู่ 5
          ซอกันตรึม : เป็นเครื่องสายใช้สี ทำด้วยไม้ กล่องเสียงขึงด้วยหนังงู มีช่องเสียงอยู่ด้านตรงข้ามหน้าซอ
          โปงลาง : เป็นเครื่องดนตรีประเภทที่บรรเลงทำนองด้วยการตี โดยใช้บรรเลงร่วมกันกับแคน
          กลองกันตรึม : เป็นเครื่องหนังชนิดหนึ่ง ทำด้วยไม้ขุดกลวง ขึงหน้าด้านหนึ่ง ด้วยหนังดึง ให้ตึงด้วยเชือก
          หืน : เป็นเครื่องดนตรีกึ่งดีดกึ่งเป่าอย่างหนึ่งมีทั้งที่ทำด้วยไม้ไผ่ และโลหะ โดยมีการเซาะร่องตรงกลางเป็นลิ้นในตัว
          แคน : เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดของชาวภาคอีสานเหนือ
          โหวด : เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่งที่ไม่มีลิ้น เกิดจากกระแสลมที่เป่าผ่านไม้รวก 
          ปี่ไสล : ใช้บรรเลงในวงกันตรึม เป็นปี่ประเภทลิ้นคู่ เช่นเดียวกับปี่ในที่มีลักษณะเป็นปี่ท่อนเดียว และมีลิ้นในตัว
          กรับคู่ : เป็นกรับทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ลักษณะเหมือนกับกรับเสภาของภาคกลาง

     
นิทานพื้นบ้าน
          นิทานพื้นบ้านของภาคอีสาน ต่างมีรูปแบบทั้งนิทานขนาดสั้น และนิทานขนาดยาว โดยบางเรื่องอาจหยิบยกเรื่องใกล้ตัวมาเล่า ขณะที่บ้างเรื่องเป็นนิทานที่สอดแทรกจินตนาการ โดยเฉพาะเรื่องอภินิหารต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะให้ประโยชน์ด้านความบันเทิงแล้ว นิทานพื้นบ้านของภาคอีสานมักสอดแทรกคติธรรม คำสอน เพื่อให้ผู้ฟังได้ตระหนักถึงการใช้ชีวิตให้มากขึ้น
          ทั้งนี้ นิทานพื้นบ้านของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย อาทิ แก้วหน้าม้า อุทัยเทวี นางสิบสอง ปลาบู่ทอง กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ นางผมหอม ผาแดงนางไอ่ ทุ่งกุลาร้องไห้ ขูลูนางอั้ว ฯลฯ


การละเล่นพื้นเมือง
          เนื่องจากภูมิประเทศภาคอีสานเป็นที่ราบสูง ค่อนข้างแห้งแล้ง เพราะพื้นดินไม่เก็บน้ำ ฤดูแล้งจะกันดาร ฤดูฝนน้ำจะท่วม แต่ชาวอีสานก็มีอาชีพทำไร่ทำนา และเป็นคนรักสนุก ดังนั้นจึงสามารถหาความบันเทิงได้ทุกโอกาส โดยจะมีทั้งการร้องเพลง  และฟ้อนรำ ทั้งนี้ การแสดงของภาคอีสาน มักเกิดจากกิจวัตรประจำวัน หรือประจำฤดูกาล และลักษณะการแสดงซึ่งเป็นลีลาเฉพาะของอีสาน คือ ลีลา และจังหวะในการก้าวเท้า ที่มีลักษณะคล้ายเต้น แต่นุ่มนวลกว่า และมักเดินด้วยปลายเท้า โดยจะสบัดเท้าไปข้างหลังสูง
          ซึ่งตัวอย่างเพลงพื้นเมือง ที่มักนิยมขับรองกัน ได้แก่ หมอลำ เพลงโคราช เจรียง กันตรึม เพลงล่องโขง เพลงแอ่วแคน ขณะที่ การฟ้อนรำ ได้แก่ แห่นางแมว เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งสวิง เซิ้งโปงลาง  เซิ้งตังหวาย  เซิ้งกระติบ รำลาวกระทบไม้ ฟ้อนภูไท เป็นต้น



เครื่องแต่งกาย
          ชาวอีสานถือว่าการทอผ้าเป็นกิจกรรมยามว่างหลังจากฤดูการทำนา หรือว่างจากงานประจำอื่น ๆ ดังนั้นใต้ถุนบ้านของชาวอีสานในอดีตจะมีการกางหูกทอผ้ากันไว้แทบทุกครัวเรือน โดยผู้หญิงในวัยต่าง ๆ จะสืบทอดการทอผ้าตั้งแต่เด็ก โดยผ้าทอมือเหล่านี้ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย และผ้าไหม และจะถูกนำไปใช้ตัดเย็บทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม หมอน ที่นอน ผ้าห่ม และการทอผ้ายังเป็นการเตรียมผ้าสำหรับการออกเรือนของฝ่ายหญิง รวมถึงเป็นการผ้าที่ทอไว้สำหรับฝ่ายชายด้วย


          ผ้าทอของภาคอีสาน สามารถจำแนกออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
          1. ผ้าทอสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยผ้าทอชนิดนี้จะเป็นผ้าพื้นไม่มีลวดลาย เพราะต้องการความทนทานจึงทอด้วยฝ้ายย้อมสี
          2. ผ้าทอสำหรับโอกาสพิเศษ เช่น ใช้ในงานบุญประเพณีต่าง ๆ งานแต่งงาน งานฟ้อนรำ ดังนั้นผ้าทอจึงมักมีลวดลายสวยงาม และมีสีสันหลากหลาย
           ทั้งนี้ จะมีประเพณีที่คู่กันมากับการทอผ้าคือการลงข่วง โดยบรรดาสาว ๆ ในหมู่บ้านจะพากันมารวมกลุ่มก่อกองไฟ บ้างก็สาวไหม บ้างก็ปั่นฝ้าย กรอฝ้าย ฝ่ายชายก็ถือโอกาสมาเกี้ยวพาราสีและนั่งคุยเป็นเพื่อน บางครั้งก็มีการนำดนตรีพื้นบ้านอย่าง พิณ แคน โหวต มาบรรเลงจ่ายผญาโต้ตอบกัน
           เนื่องจากอีสานมีชนอยู่หลายกลุ่มวัฒนธรรม การผลิตผ้าพื้นเมืองจึงแตกต่างกันไปตามกลุ่มวัฒนธรรม เช่น กลุ่มอีสานใต้ คือกลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ เป็นกลุ่มที่มีการทอผ้าที่มีสีสันแตกต่างจากกลุ่มไทยลาว
           อย่างไรก็ตาม รูปแบบการแต่งกายของชาวอีสานทั่ว ๆ ไป คือ  ผู้ชาย มักนิยมสวมเสื้อ ม่อฮ่อม ซึ่งเป็นเสื้อแขนสั้นสีเข้ม ๆ  สวมกางเกงสีเดียวกับเสื้อจรดเข่า นิยมใช้ผ้าคาดเอวด้วยผ้าขาวม้า ขณะที่ ผู้หญิง มักสวมใส่ผ้าซิ่นแบบทอทั้งตัว สวมเสื้อคอกลม แขนยาว เล่นสีสัน แต่หากเป็นงานพิธีต่าง ๆ อาจมีการห่มผ้าสไบเฉียง สวมเครื่องประดับตามข้อมือ ข้อเท้า และคอ เพิ่มด้วย


อาหารประจำภาค
          ในปัจจุบัน อาหารจากภาคอีสาน ถือเป็นอาหารยอดนิยมที่แพร่หลายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งเมนูที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี ได้แก่ เมนูส้มตำ โดยเฉพาะส้มตำไทย ที่สามารถรับประทานได้ทุกที่ ทุกเวลา เนื่องจากส้มตำมีส่วนประกอบหลักคือผัก และสามารถรับประทานคู่กับ ข้าวเหนียว ข้าวสวย ขนมจีน ได้ตามที่ต้องการ
          นอกจากเมนูส้มตำแล้ว อาหารอีสานที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ได้แก่ ลาบ ก้อย ข้าวเหนียวไก่ย่าง ปลาร้าหลน  ข้าวจี่  ผัดหมี่โคราช แกงอ่อม แกงผักหวานไข่มดแดง เป็นต้น







ประเพณีภาคกลาง และวัฒนธรรมประเพณีภาคกลาง


         
วิดีโอวัฒนธรรมประเพณีภาคกลาง


           ภาคกลางถือได้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางของประเทศไทย ที่ครอบคลุมพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยที่ราบซึ่งเกิดจากการที่แม่น้ำพัดพาเอาเศษหิน เศษดิน กรวดทราย และตะกอนมาทับถมพอกพูนมานับเป็นเวลาล้าน ๆ ปี บริเวณที่ราบของภาคนี้ กินอาณาบริเวณตั้งแต่ทางใต้ของจังหวัดอุตรดิตถ์ลงไปจนจรดอ่าวไทย นับเป็นพื้นที่ราบที่มีขนาดกว้างใหญ่กว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ


เพลงพื้นบ้าน
          เป็นที่รู้กันดีว่า เพลงพื้นบ้านของแต่ละภาคนั้น เกิดจากการที่ชาวบ้านเป็นผู้สร้างบทเพลงดังกล่าว และขับร้องสืบทอดต่อกันมากปากต่อปาก โดยส่วนมากเพลงพื้นบ้านจะเป็นเพลงที่มีคำร้องง่าย ๆ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น ๆ ส่วนในภาคกลาง เพลงพื้นบ้านก็จะแต่งมาจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยแยกเป็นประเภท ได้ดังนี้
          - เพลงที่ร้องเล่นในฤดูน้ำมาก ได้แก่ เพลงเรือ เพลงร่อยพรรษา เพลงรำภาข้าวสาร เพลงหน้าใย เพลงครึ่งท่อน เป็นต้น
          - เพลงที่ร้องเล่นในฤดูเกี่ยวข้าวและนวดข้าว ได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นรำกำเคียว เพลงจาก ซึ่งใช้ร้องเล่นระหว่างเกี่ยวข้าว สำหรับเพลงสงฟาง เพลงพานฟาง เพลงโอก เพลงสงคอลำพวน เพลงเตะข้าว และเพลงชักกระดานใช้ร้องเล่นระหว่างนวดข้าว
          - เพลงที่ร้องเล่นในช่วงตรุษสงกรานต์ ได้แก่ เพลงสงกรานต์ เพลงหย่อย เพลงระบำบ้านไร่ เพลงช้าเจ้าหงส์ เพลงพวงมาลัย เพลงสันนิษฐาน เพลงคล้องช้าง เพลงใจหวัง เพลงฮินเลเล เพลงกรุ่น เพลงยั่ว เพลงชักเย่อ เพลงเข้าทรงต่าง ๆ เป็นต้น
          - เพลงที่ร้องเล่นได้ทุกโอกาส เพื่อความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และเกิดความสามัคคีในหมู่คณะมักจะร้องเล่นกันในโอกาสทำงานร่วมกัน หรือมีงานบุญและงานรื่นเริงต่าง ๆ โดยเป็นเพลงในลักษณะพ่อเพลงแม่เพลงอาชีพที่ใช้โต้ตอบกัน ได้แก่ เพลงเทพทอง เพลงปรบไก่ เพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงลำตัด เพลงทรงเครื่อง เป็นต้น



เครื่องดนตรีพื้นบ้าน
          ถ้าเอ่ยถึงเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ชาวภาคกลางก็มีดนตรีครบทุกประเภท ทั้ง ดีด สี ตี เป่า เรียกได้ว่า ครบเครื่องเลยทีเดียว เนื่องจากชาวภาคกลางก็ให้ความสำคัญกับเพลงพื้นบ้าน และมักจะร้องเพลงในหมู่คณะเพื่อให้เกิดความสามัคคีในการทำงานร่วมกัน สำหรับเรื่องดนตรีพื้นที่บ้านที่ชาวภาคกลางนิยมเล่นนั้น ได้แก่
          ซอสามสาย : เป็นซอ ที่มีรูปร่างงดงามที่สุด ซึ่งมีใช้ในวงดนตรีไทย มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย (พ.1350) แล้ว ซอสามสายขึ้นเสียง ระหว่างสายเป็นคู่สี่ใช้บรรเลงในพระราชพิธี อันเนื่องด้วยองค์พระมหากษัตริย์ ภายหลังจึงบรรเลงประสมเป็นวงมโหรี



          ซอด้วง : เป็นเครื่องสายชนิดหนึ่ง บรรเลงโดยการใช้คันชักสี กล่องเสียง ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขึงหน้าด้วยหนังงู มีช่องเสียงอยู่ด้านตรงข้าม คันทวนทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร มีลูกบิดขึ้นสายอยู่ตอนบน ซอด้วงใช้สายไหมฟั่นหรือสายเอ็น มี 2 สาย ขนาดต่างกัน คันชักอยู่ระหว่างสาย ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ซอด้วงมีเสียงแหลม ใช้เป็นเครื่องดนตรีหลักในวงเครื่องสาย


          ซออู้ : เป็นเครื่องสายใช้สี กล่องเสียงทำด้วยกะโหลกมะพร้าว ขึ้นหน้าด้วยหนังวัว มีช่องเสียง อยู่ด้านตรงข้าม คันทวนทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ตอนบนมีลูกบิดสำหรับขึงสาย สายซอทำด้วย ไหมฟั่น  มีคันชักอยู่ระหว่างสาย ความยาวของคันซอประมาณ 60 เซนติเมตร คันชักประมาณ 50 เซนติมตร ซออู้มีเสียงทุ้มต่ำ บรรเลงคู่และสอดสลับกับซอด้วงในวงเครื่องสาย


          จะเข้ : เป็นเครื่องสายที่ใช้บรรเลงด้วยการดีด โดยปกติมีขนาดความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร และยาว 140 เซนติเมตร ตัวจะเข้ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน ขุดเป็นโพรง มีสาย 3 สาย สายที่ 1-2  ทำด้วยไหมฟั่น สายที่ 3 ทำด้วยทองเหลือง วิธีการบรรเลงมือซ้าย จะทำหน้าที่กดสายให้เกิดเสียง สูง - ต่ำ ส่วนมือขวาจะดีดที่สายด้วยวัตถุที่ทำจากงาสัตว์


          ขลุ่ย : ของไทยเป็นขลุ่ยในตระกูลรีคอร์ดเดอร์ คือ มีที่บังคับแบ่งกระแสลม ทำให้เกิดเสียงในตัวไม่ใช่ขลุ่ยผิวตระกูลฟลุตแบบจีน ขลุ่ยไทยมีหลายขนาด ได้แก่ ขลุ่ยอู้มีเสียงต่ำที่สุด ระดับเสียงสูง ได้แก่ ขลุ่ยหลีบ และยังมี เสียงสูงกว่านี้ คือ ขลุ่ยกรวด หรือขลุ่ยหลีบกรวดอีกด้วย ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายและวงมโหรี



          ปี่ : เป็นเครื่องเป่าที่มีลิ้น ทำด้วยใบตาล เป็นเครื่องกำเนิดเสียง เป็นประเภทลิ้นคู่ (หรือ 4 ลิ้น) เช่นเดียวกับ โอโบ (Oboe) มีหลายชนิดคือ ปี่นอก ปี่ใน ปี่กลาง ปี่มอญ ปี่ไทยที่เด่นที่สุด คือ ปี่ในตระกูลปี่ใน ซึ่งมีรูปิดเปิดบังคับลม เพียง 6 รู แต่สามารถบรรเลงได้ถึง 22 เสียง และสามารถเป่าเลียนเสียงคนพูดได้ชัดเจนอีกด้วย


          ระนาดเอก : เป็นระนาดเสียงแหลมสูง ประกอบด้วยลูกระนาดที่ทำด้วยไม้ไผ่บงหรือไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน 21-22 ลูก ร้อยเข้าด้วยกันเป็นผืนระนาด และแขวนหัวท้ายทั้ง 2 ไว้บนกล่องเสียงที่ เรียกว่า รางระนาด ซึ่งมีรูปร่างคล้ายเรือ ระนาดเอก ทำหน้าที่นำวงดนตรีด้วย เทคนิคการบรรเลงที่ประณีตพิสดาร มักบรรเลง 2 แบบ คือ ตีด้วยไม้แข็ง เรียกว่า ปี่พาทย์ไม้แข็ง และตีด้วยไม้นวมเรียก ปี่พาทย์ไม้นวม ระนาดเอกเรียงเสียงต่ำไปหาสูงจากซ้ายไปขวา และเทียบเสียงโดยวิธีใช้ชันโรงผสม ผงตะกั่วติดไว้ด้านล่างทั้งหัวและท้ายของลูกระนาด


          ระนาดทุ้ม : ทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็งมีผืนละ 18 ลูก มีรูปร่างคล้ายระนาดเอก แต่เตี้ยกว่าและกว้างกว่าเล็กน้อย ระนาดทุ้มใช้บรรเลงหยอกล้อกับระนาดเอก


          ฆ้องวงใหญ่ : เป็นหลักของวงปี่พาทย์ และวงมโหรีใช้บรรเลงทำนองหลัก มีลูกฆ้อง 16 ลูก ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ
          - ลูกฆ้อง เป็นส่วนกำเนิดเสียงทำด้วยโลหะผสม มีลักษณะคล้ายถ้วยกลม ๆ ใหญ่เล็กเรียงตามลำดับเสียงต่ำสูง ด้านบนมีตุ่มนูนขึ้นมาใช้สำหรับตีและใต้ตุ่มอุดไว้ด้วยตะกั่วผสมชันโรง เพื่อถ่วงเสียงให้สูงต่ำตามต้องการ
          - เรือนฆ้อง ทำด้วยหวายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้วเศษ ขดเป็นวง และยึดไว้ด้วยไม้เนื้อแข็ง กลึงเป็นลวดลายคล้ายลูกกรง และมีไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ ๆ ค้ำยันให้ฆ้องคงตัวเป็นโครงสร้างอยู่ได้ การผูกลูกฆ้องแขวนเข้ากับเรือนฆ้องผูกด้วยเชือก 


          ฆ้องวงเล็ก : มีขนาดเล็กกว่า แต่เสียงสูงกว่าฆ้องวงใหญ่มีวิธีตีเช่นเดียวกับฆ้องวงใหญ่ แต่ดำเนินทำนองเป็นทางเก็บหรือทางอื่นแล้วแต่กรณี บรรเลงทำนองแปรจากฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็กมี 18 ลูก
          โทนรำมะนา : รูปร่างคล้ายกลองยาวขนาดเล็ก ทำด้วยไม้ หรือดินเผา ขึงด้วยหนังดึงให้ตึงด้วยเชือกหนัง ตัวกลองยาวประมาณ 34 เซนติเมตร ตรงกลางคอด ด้านตรงข้ามหน้ากลองคล้ายทรงกระบอก ปากบานแบบลำโพง ตรงเอวคอดประมาณ 12 เซนติเมตร ใช้ตีคู่กับรำมะนา ส่วนรำมะนานั้น เป็นกลองทำหนังหน้าเดียวมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 22 เซนติเมตร ใช้ในวงเครื่องสาย


          กลองแขก : กลองที่ตีหน้าทับได้ทั้งในวงปี่พาทย์ มโหรีและบางกรณีใช้ในวงเครื่องสายก็ได้ ตีด้วยมือทั้ง 2 หน้า คู่หนึ่งประกอบด้วยตัวผู้ (เสียงสูง) และตัวเมีย (เสียงต่ำ)


          กลองสองหน้า : เป็นชื่อของกลองชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเหมือนกลองลูกหนึ่งในเปิงมางคอก ขึงด้วยหนังเลียดรอบตัว ใช้ในวงปี่พาทย์ หรือมโหรีบางกรณี


นิทานพื้นบ้าน
          นิทานพื้นบ้านภาคกลาง เป็นสิ่งที่ความบันเทิงเริงใจแก่ผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นการหยิบยกเอาเรื่องใกล้ตัว เรื่องเก่าแก่สมัยประวัติศาสตร์ หรือเรื่องเล่าตั้งแต่ชนชั้นจนถึงระดับคนยากคนจน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเทวดาฟ้าดินมาให้ลูกหลานได้ฟังหลายต่อหลายเรื่อง โดยท้ายเรื่องของนิทานนั้น ๆ มักจะสอดแทรกคติสอนใจ และข้อคิดดี ๆ ให้ได้ฟังพร้อมคิดตามอยู่เสมอ ๆ
          สำหรับนิทานพื้นบ้านทางภาคกลาง ที่เป็นที่นิยมเล่าสืบต่อกันมามีหลายเรื่องเลยทีเดียวที่สนุกสนาน และนำมาทำเป็นการ์ตูน หรือละครให้ได้ชมกันอย่างมากมาย อาทิ ไกรทอง, สองพี่น้อง, บางแม่หม้าย, ตาม่องล่าย, เจ้าชายสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมาก, เรื่องกล่องข้าวน้อย, ขุนช้างขุนแผน เป็นต้น


การละเล่นพื้นบ้าน
          การละเล่นพื้นบ้านของชาวภาคกลางนั้น มีทั้งการละเล่นแบบที่ใช้อุปกรณ์เป็นตัวเชื่อมการเล่น หรือการละเล่นเป็นกลุ่ม บ้างก็เป็นการละเล่นแบบเดี่ยว แต่ส่วนมากมักจะมีการร้องเพลงประกอบการละเล่นต่าง ๆ อาทิ หมากเก็บ, ว่าว, ตี่จับ, รำตง, การเล่นโม่ง, สะบ้าล้อ, เพลงเรือบก, คำทาย (โจ๊กปริศนา), เพลงปรบไก่, กลองยาว, หลุมเมือง, เพลงเรืออยุธยา, การแข่งขันวัวลาน, เพลงปรบไก่, การทอยสะบ้า, นางลิงลม, การเข้าผีนางด้ง ฯลฯ


การแต่งกาย
          ในปัจจุบันการแต่งกายของแต่ละภาคได้รับความกลมกลืนกันไปหมด เนื่องมาจากถูกครอบคลุมสิ่งที่เรียกว่าแฟชั่น จึงทำให้การแต่งกายมีความคล้ายคลึงกันไปหมด จนแยกแยะไม่ค่อยออกว่าบุคคลไหนอาศัยอยู่ในภาคใด แต่หากย้อนกลับถึงการแต่งกายในชีวิตประจำวันทั่วไป ผู้ชายจะนุ่งกางเกงครึ่งน่อง สวมเสื้อแขนสั้น คาดผ้าขาวม้า ส่วนผู้หญิง จะนุ่งซิ่นยาว สวมเสื้อแขนสั้นหรือยาว
          แต่หากเป็นชุดไทย สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ผู้ชายจะนิยมสวมใส่โจงกระเบนสวมเสื้อสีขาว ติดกระดุม 5 เม็ด ที่เรียกว่า "ราชประแตน" ไว้ผมสั้นข้าง ๆ ตัดเกรียนถึงหนังศีรษะข้างบนหวีแสกกลาง ส่วนผู้หญิงจะนิยมสวมใส่ผ้าซิ่นยาวครึ่งแข้ง ห่มสไบเฉียงตามสมัยอยุธยา ทรงผมเกล้าเป็นมวย และสวมใส่เครื่องประดับเพื่อความสวยงาม


อาหารประจำภาค
          เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของภาคกลางเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลอง หนองบึงมากมาย จึงเป็นแหล่งอาหารทั้งพืชผักและสัตว์น้ำนานาชนิด พื้นที่บางส่วนติดชายฝั่งทะเลทำให้วัตถุดิบ ในการประกอบอาหารหลากหลายอุดมสมบูรณ์ ส่วนอาหารภาคกลางนั้นก็จะมีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องการปรุง รสชาติ และการตกแต่งให้หน้าตาอาหารน่ารับประทาน นอกจากนี้ อาหารภาคกลางบางชนิด ยังได้รับอิทธิพลมาจากอาหารของราชสำนักอีกด้วย
          สำหรับอาหารของภาคกลางนั้น มักจะมีน้ำพริกและผักจิ้ม โดยจะรับประทานกับข้าวสวยเป็นหลัก และส่วนมากจะน้ำพริกต่าง ๆ นั้น จะได้รับการผสมผสานระหว่างภาคต่าง ๆ เช่น แกงไตปลา ปลาร้า น้ำพริกอ่อง น้ำพริกปลาทู ต้มยำ ผัดเผ็ด ข้าวผัด แกงส้ม ผัดไทย เป็นต้น




ประเพณีภาคเหนือ และวัฒนธรรมประเพณีภาคเหนือ



วิดีโอ วัฒนธรรมประเพณีภาคเหนือ

         

          สำหรับภาคเหนือของไทย มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเขตภูเขาสลับพื้นที่ราบระหว่างภูเขา ซึ่งผู้คนอาศัยอย่างกระจายตัวแบ่งกันเป็นกลุ่ม อาจเรียกว่า กลุ่มวัฒนธรรมล้านนา โดยจะมีวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมเก่าแก่เป็นของตนเองมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่องค์ประกอบที่สำคัญก็ยังมีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก อาทิ สำเนียงการพูด การขับร้อง ฟ้อนรำ การดำรงชีวิตแบบเกษตรกร การนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวิญญาณของบรรพบุรุษ ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทการแสดงออกของความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์โดยผ่านภาษาวรรณกรรม ดนตรี และงานฝีมือแม้กระทั่งการจัดงานฉลองสถานที่สำคัญที่มีมาแต่โบราณ เดิมวัฒนธรรมคนเมืองหรือคนล้านนา มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ตามชื่อของอาณาจักรที่มีการปกครองแบบนครรัฐที่ตั้งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 โดยพญาเม็งราย

          
วัฒนธรรมทางภาษาถิ่น
          ชาวไทยทางภาคเหนือมีภาษาล้านนาที่นุ่มนวลไพเราะ ซึ่งมีภาษาพูดและภาษาเขียนที่เรียกว่า "คำเมือง" ของภาคเหนือเอง โดยการพูดจะมีสำเนียงที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่  ปัจจุบันยังคงใช้พูดติดต่อสื่อสารกัน

วัฒนธรรมการแต่งกาย
          การแต่งกายพื้นเมืองของภาคเหนือมีลักษณะแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติของกลุ่มชนคนเมือง เนื่องจากผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งบ่งบอกเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นถิ่น
          สำหรับหญิงชาวเหนือจะนุ่งผ้าซิ่น หรือผ้าถุง มีความยาวเกือบถึงตาตุ่ม ซึ่งนิยมนุ่งทั้งสาวและคนแก่ ผ้าถุงจะมีความประณีต งดงาม ตีนซิ่นจะมีลวดลายงดงาม ส่วนเสื้อจะเป็นเสื้อคอกลม มีสีสัน ลวดลายสวยงาม อาจห่มสไบทับ และเกล้าผม
          ส่วนผู้ชายนิยมนุ่งนุ่งกางเกงขายาวลักษณะแบบกางเกงขายาวแบบ 3 ส่วน เรียกติดปากว่า "เตี่ยว" "เตี่ยวสะดอ" หรือ "เตี่ยวกี" ทำจากผ้าฝ้าย ย้อมสีน้ำเงินหรือสีดำ และสวมเสื้อผ้าฝ้ายคอกลมแขนสั้น แบบผ่าอก กระดุม 5 เม็ด สีน้ำเงินหรือสีดำ ที่เรียกว่า เสื้อม่อฮ่อม ชุดนี้ใส่เวลาทำงาน หรือคอจีนแขนยาว อาจมีผ้าคาดเอว ผ้าพาดบ่า และมีผ้าโพกศีรษะ 
          ชาวบ้านบางแห่งสวมเสื้อม่อฮ่อม นุ่งกางเกง สามส่วน และมีผ้าคาดเอว เครื่องประดับมักจะเป็นเครื่องเงินและเครื่องทอง

วัฒนธรรมการกิน
         ชาวเหนือมีวัฒนธรรมการกินคล้ายกับคนอีสาน คือ กินข้าวเหนียวและปลาร้า ซึ่งภาษาเหนือเรียกว่า "ข้าวนิ่ง" และ "ฮ้า" ส่วนกรรมวิธีการปรุงอาหารของภาคเหนือจะนิยมการต้ม ปิ้ง แกง หมก ไม่นิยมใช้น้ำมัน ส่วนอาหารขึ้นชื่อเรียกว่าถ้าได้ไปเที่ยวต้องไปลิ้มลอง ได้แก่ น้ำพริกหนุ่ม, น้ำพริกอ่อง, น้ำพริกน้ำปู, ไส้อั่ว, แกงโฮะ, แกงฮังเล, แคบหมู, ผักกาดจอ ลาบหมู, ลาบเนื้อ, จิ้นส้ม (แหนม), ข้าวซอย, ขนมจีนน้ำเงี้ยว  เป็นต้น


ประเพณีของภาคเหนือ
          ประเพณีของภาคเหนือ เกิดจากการผสมผสานการดำเนินชีวิต และศาสนาพุทธความเชื่อเรื่องการนับถือผีส่งผลทำให้มีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของประเพณีที่จะแตกต่างกันไปตามฤดูกาล ทั้งนี้ ภาคเหนือจะมีงานประเพณีในรอบปีแทบทุกเดือน จึงขอยกตัวอย่างประเพณีภาคเหนือบางส่วนมานำเสนอ ดังนี้
         สงกรานต์งานประเพณี ถือเป็นช่วงแรกของการเริ่มต้นปี๋ใหม่เมือง หรือสงกรานต์งานประเพณี โดยแบ่งออกเป็น
          วันที่ 13 เมษายน หรือวันสังขารล่อง ถือเป็นวันสิ้นสุดของปี  ดยจะมีการยิงปืน  ยิงสโพก และจุดประทัดตั้งแต่ก่อนสว่างเพื่อขับไล่สิ่งไม่ดี  วันนี้ต้องเก็บกวาดบ้านเรือน และ ทำความสะอาดวัด
          วันที่ 14 เมษายน หรือวันเนา ตอนเช้าจะมีการจัดเตรียมอาหารและเครื่องไทยทาน สำหรับงานบุญในวันรุ่งขึ้น  ตอนบ่ายจะไปขนทรายจากแม่น้ำเพื่อนำไปก่อเจดีย์ทรายในวัด เป็นการทดแทนทรายที่เหยียบติดเท้าออกจากวัดตลอดทั้งปี
          วันที่ 15 เมษายน หรือวันพญาวัน เป็นวันเริ่มศักราชใหม่ มีการทำบุญถวายขันข้าว ถวายตุง  ไม้ค้ำโพธิ์ที่วัดสรงน้ำพระพุทธรูป พระธาตุและรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
          วันที่ 16-17 เมษายน หรือวันปากปีและวันปากเดือน  เป็นวันทำพิธีทางไสยศาสตร์  สะเดาะเคราะห์  และบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ทั้งนี้ ชาวล้านนามีความเชื่อว่า การทำพิธีสืบชะตาจะช่วยต่ออายุให้ตน เอง ญาติพี่น้อง และบ้านเมืองให้ยืนยาว ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นสิริมงคล โดยแบ่งการสืบชะตาแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ การสืบชะตาคน, การสืบชะตาบ้าน และการสืบชะตาเมือง


          ประเพณีลอยกระทงสายหรือประทีปพันดว ที่จังหวัดตาก ในเทศกาลเดียวกันด้วยในเดือน 3 หรือประมาณเดือนธันวาคม มีประเพณีตั้งธรรมหลวง (เทศน์มหาชาติ) และทอดผ้าป่า ในธันวาคมจะมีการเกี่ยว "ข้าวดอ" (คือข้าวสุกก่อนข้าวปี) พอถึงข้างแรมจึงจะมีการเกี่ยว "ข้าวปี"


          ประเพณีลอยโคม ชาวล้านนาจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีความเชื่อในการปล่อย โคมลอยซึ่งทำด้วยกระดาษสาติดบนโครงไม้ไผ่แล้วจุดตะเกียงไฟตรงกลางเพื่อให้ไอความร้อนพาโคมลอยขึ้นไปในอากาศเป็นการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศกและเรื่องร้าย ๆ ต่าง ๆ ให้ไปพ้นจากตัว


           ประเพณีตานตุง  ในภาษาถิ่นล้านนา ตุง หมายถึง "ธง" จุดประสงค์ของการทำตุงในล้านนาก็คือ การทำถวายเป็นพุทธบูชา ชาวล้านนาถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถวายเพื่อเป็นปัจจัยส่งกุศลให้แก่ตนไปในชาติหน้า ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อตายไปแล้วก็จะได้เกาะยึดชายตุงขึ้นสวรรค์พ้นจากขุมนรก วันที่ถวายตุงนั้นนิยมกระทำในวันพญาวันซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์
          ประเพณีกรวยสลาก หรือตานก๋วยสลาก  เป็นประเพณีของชาวพุทธที่มีการทำบุญให้ทานรับพรจากพระ จะทำให้เกิดสิริมงคลแก่ตนและอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นการระลึกถึงบุญคุณของผู้มีพระคุณ และเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของคนในชุมชน
          ประเพณีขึ้นขันดอกอินทขิล บูชาเสาหลักเมืองเชียงใหม่
          ประเพณีงานประเพณีนบพระเล่นเพลง ในแผ่นดินพระเจ้าลิไท วัดพระแก้ว อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
          ประเพณีงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ  เพื่อเป็นการเคารพสักการะเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ
          ประเพณีลอยกระทงสาย เพื่อบูชาแม่คงคา ขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในน้ำและอธิษฐานบูชารอยพระพุทธบาท
          ประเพณีแล้อุ๊ป๊ะดะก่า เป็นการเตรียมอาหารเพื่อนำไปถวาย (ทำบุญ) ข้าวพระพุทธในวันพระของชาวไทยใหญ่
          ประเพณีทอดผ้าป่าแถว เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะได้ถวายเครื่องนุ่งห่มและไทยธรรม เป็นเครื่องบูชาแด่พระสงฆ์ก่อนจะทำพิธีลอยกระทงบูชาพระพุทธบาทตามคติความเชื่อแต่โบราณ กระทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน  12  (วันลอยกระทง)
          ประเพณีขึ้นธาตุเดือนเก้า ประมาณเดือนมิถุนายน (หรือปลายเดือนพฤษภาคม) เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
          ประเพณีแข่งเรือยาว จังหวัดน่าน
          ประเพณีเวียนเทียนกลางน้ำ วัดติโลกอาราม จังหวัดพะเยา
          ประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีปพันดวง จังหวัดตาก
          ประเพณีทานหลัวผิงไฟ คือประเพณีการถวายฟืนแก่พระสงฆ์เพื่อใช้จุดไฟในช่วงฤดูหนาว จะกระทำในเดือน เหนือหรือตรงกับเดือนมกราคม
          ประเพณีอู้สาว คำว่า "อู้" เป็นภาษาไทยภาคเหนือแปลว่า "พุดกัน คุยกัน สนทนากัน สนทนากัน" ดังนั้น "อู้สาว" ก็คือ พูดกับสาว คุยกับสาว หรือแอ่วสาวการอู้สาวเป็นการพดคุยกันเป็นทำนองหรือเป็นกวีโวหาร

เพลงพื้นบ้านในภาคเหนือ
          วัฒนธรรมเพลงพื้นบ้านท้องถิ่นในของภาคเหนือ เน้นความเพลงที่มีความสนุกสนาน สามารถใช้ร้องเล่นได้ทุกโอกาส ไม่จำกัดฤดู ไม่จำกัดเทศกาล ส่วนใหญ่นิยมใช้ร้องเพลงเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ และการพักผ่อนหย่อนใจโดยลักษณะการขับร้องและท่วงทำนองจะ อ่อนโยน ฟังดูเนิบนาบนุ่มนวล สอดคล้องเครื่องดนตรีหลัก ได้แก่ ปี่ ซึง สะล้อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถจัดประเภทของเพลงพื้นบ้านของภาคเหนือได้ 4 ประเภท ดังนี้
          เพลงซอ คือการร้องเพลงร้องโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง เพื่อเกี้ยวพาราสีกัน โดยมีการบรรเลงปี่ สะล้อและซึง เคล้าคลอไปด้วย
          เพลงค่าว ซึ่งเป็นบทขับร้องที่มีทำนองสูงต่ำ ไพเราะ
          เพลงจ๊อย คล้ายการขับลำนำ โดยมีผู้ร้องหลายคน เป็นการนำบทประพันธ์ของภาคเหนือ นำมาขับร้องเป็นทำนองสั้น ๆ โดยเนื้อหาเป็นการระบายความในใจ แสดงอารมณ์ความรัก ความเงียบเหงา ทั้งนี้ มีผู้ขับร้องเพียงคน เดียว โดยจะใช้ดนตรีบรรเลงหรือไม่ก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น จ๊อยให้กับคนรักรู้คนในใจ จ๊อยประชันกันระหว่างเพื่อนฝูง และจ๊อยเพื่ออวยพรในโอกาสต่าง ๆ หรือจ๊อยอำลา
          เพลงเด็ก มีลักษณะคล้ายกับเพลงเด็กของภาคอื่น ๆ คือ เพลงกล่อมเด็ก เพลงปลอบเด็ก และเพลงที่เด็กใช้ร้องเล่นกันได้แก่ เพลงกล่อมลูก หรือเพลงฮื่อลูก และเพลงสิกจุ่ง-จา (สิก จุ่ง-จา หมายถึง เล่นชิงช้า) ซึ่งการสิกจุ่งจาเป็นการละเล่นของภาคเหนือ จะผู้เล่นมีกี่คนก็ได้ โดยชิงช้าทำด้วยเชือกเส้นเดียวสอดเข้าไปในรูกระบอกไม้ซาง แล้วผูกปลายเชือกทั้งสองไว้กับต้นไม้หรือใต้ถุนบ้าน
          ส่วนวิธีเล่น คือ แกว่งชิงช้าไปมาให้สูงมาก ๆ บทร้องประกอบผู้เล่นจะร้องตามจังหวะที่ชิงช้าแกว่งไกวไปมา ดังนี้
          "สิกจุ่งจา อีหล้าจุ่งจ๊อย ขึ้นดอยน้อย ขึ้นดอยหลวง เก็บผักขี้ขวง ใส่ซ้าทังลุ่ม เก็บฝักกุ่ม ใส่ซ้าทั้งสน เจ้านายตน มาปะคนหนึ่ง ตีตึ่งตึง หื้ออย่าสาวฟังควักขี้ดัง หื้ออย่าสาวจูบ แปงตูบน้อย หื้ออย่าสาวนอน ขี้ผองขอน หื้ออย่าสาวไหว้ ร้อยดอกไม้ หื้ออย่าสาวเหน็บ จักเข็บขบหู ปูหนีบข้าง ช้างไล่แทง แมงแกงขบเขี้ยว เงี้ยวไล่แทง ตกขุมแมงดิน ตีฆ้องโม่ง ๆ "
          นอกจากนี้ มีเพลงกล่อมลูกที่ภาคเหนือใช้ในการกล่อมลูกหรือเด็ก จะขึ้นต้นด้วยคำว่า "สิกจุ้งจาโหน" แล้วยังมักจะขึ้นต้นด้วย คำว่า "อื่อจา" เป็นส่วนใหญ่ จึงเรียกเพลงกล่อมเด็กนี้ว่า เพลงอื่อลูกทำนองและลีลาอื่อลูกจะเป็นไป ช้า ๆ ด้วยน้ำเสียงทุ้มเย็นตามถ้อยคำที่คัดสรรมา เพื่อสั่งสอน และพรรณาถึงความรัก ความห่วงใยลูกน้อย กระทั่งคำขู่ คำปลอบ หากไม่ยอมนอนหลับ ซึ่งเพลงกล่อมเด็กภาคเหนือสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมต่าง ๆ ของ คนในภาคเหนือตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

นิทานพื้นบ้าน
          นิทานของภาคของแต่ละภาคมักเต็มไปด้วยสาระ คติสอนใจ พร้อมความสนุกสนานเพลิดเพลิน อาจมีความแตกต่างกันไปตามแต่ลักษณะสำคัญของภูมิภาค ส่วนนิทานพื้นบ้านจากภาคเหนือมักเป็นตำนานของสถานที่ต่าง ๆ หรือความเป็นมาและสาเหตุของสถานที่เหล่านั้นเล่าสืบต่อกันมาช้านาน เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และได้สาระที่เป็นคติสอนใจ อาทิ ความดี ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ รวมถึงยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นภาคเหนืออีกด้วย
          ยกตัวอย่างนิทานพื้นบ้านภาคเหนือ ได้แก่
- เรื่อง ลานนางคอย จังหวัดแพร่
- เรื่อง เมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
- เรื่อง เซี่ยงเมี่ยงค่ำพญา
- เรื่อง ปู๋เซ็ดค่ำลัวะ
- เรื่อง ดนตรีธรรมชาติ
- เรื่อง เชียงดาว
- เรื่อง อ้ายก้องขี้จุ๊
- เรื่อง ผาวิ่งชู้
- เรื่อง ควายลุงคำ
- เรื่อง ย่าผันคอเหนียง

เครื่องดนตรีพื้นบ้าน
          สะล้อ หรือทะล้อ เป็นเครื่องสายบรรเลง ด้วยการสี ใช้คัน ชักอิสระ ตัวสะล้อที่เป็น แหล่งกำเนิดเสียงทำ ด้วยกะลามะพร้าว
          ซึง เป็นเครื่องสายชนิดหนึ่ง ใช้บรรเลงด้วยการดีด ทำ ด้วยไม้สักหรือไม้เนื้อแข็ง
          ขลุ่ย มีลักษณะเช่นเดียวกับขลุ่ยของภาคกลาง
          ปี่แน มีลักษณะคลายปี่ไฉน หรือปี่ชวา แต่มี ขนาดใหญ่กว่า เป็นปี่ประเภท ลิ้นคู่ทำด้วยไม้ พิณเปี๊ยะ หรือ พิณเพียะ หรือบางทีก็เรียกว่า เพียะ หรือเปี๊ยะ กะโหลกทำด้วยกะลามะพร้าว
          กลองเต่งถิ้ง เป็นกลองสองหน้า ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง หรือไม้ เนื้ออ่อน
          ตะหลดปด หรือมะหลดปด เป็นกลองสองหน้า ขนาดยาวประมาณ 100 เซนติเมตร
          กลองตึ่งโนง เป็นกลองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตัวกลองจะยาว มากขนาด 3-4 เมตร
          กลองสะบัดชัยโบราณ เดิมใช้ตียามออกศึกสงคราม เพื่อเป็นสิริมงคล และเป็นขวัญกำลังใจให้แก่เหล่าทหารหาญในการต่อ สู้ให้ได้ชัยชนะ ซึ่งปัจจุบันพบเห็นในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านในระยะหลังโดยทั่วไป ลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผนเร้าใจมีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ศอก เข่า ศีรษะ ประกอบในการตีกลองด้วย ทำให้การแสดงการตีกลองสะบัดชัยเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้ชม

การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ
          โอกาสที่แสดงนิยม โชว์ในงานพระราชพิธี หรือวันสำคัญทางศาสนา  ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง งานมงคล  และงานรื่นเริงทั่วไป ในที่นี้จะแสดงตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ ได้แก่ ฟ้อนภูไท ฟ้อนเทียนฟ้อนเล็บ หรือฟ้อนเมือง,   ฟ้อนดาบ, ฟ้อนเงี้ยว, ฟ้อนลาวแพน, ฟ้อนรัก, ฟ้อนดวงเดือน, ฟ้อนดวงดอกไม้, ฟ้อนมาลัย, ฟ้อนไต , ฟ้อนโยคีถวายไฟ, ระบำชาวเขา, รำลาวกระทบไม้, รำกลองสะบัดชัย

          จะเห็นได้ว่าภาคเหนือของประเทศไทยนั้นประกอบด้วยผู้ที่คนหลากหลายชาติพันธุ์ จึงทำให้มีภาษาถิ่นที่แตกต่างกัน แต่มีสิ่งที่คล้ายคลึงกัน คือ ความเคารพบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว  ก่อให้เกิดรากเหง้าขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรม มาถึงปัจจุบัน ซึ่งชาวเหนือจะมีประเพณีที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบ่งสรรตามฤดูกาล แม้แตกต่างกันกลับมีสายใยแห่งชุมชนร้อยรัดผู้คนให้แน่นแฟ้นถือเป็นเสน่ห์ชวนให้ผู้คนหลงรัก "ดินแดนล้านนา"